ตามที่ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ รายงานหลังมาตรการผ่อนปรน 7 วัน ได้เก็บรวบรวมสถิติการดำเนินคดีผู้กระทำความผิด 2 ลักษณะคือ การออกนอกเคหสถานในช่วงเวลาเคอร์ฟิว ระหว่างเวลา 22.00-04.00 น. โดยไม่ได้รับอนุญาต หรือไม่มีเหตุผลอันสมควร
และการรวมกลุ่มมั่วสุมในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ มีการเปรียบเทียบ 2 ช่วงเวลาคือ ก่อนการผ่อนปรน วันที่ 26 เม.ย.–2 พ.ค.2563 และภายหลังผ่อนปรน วันที่ 3 พ.ค.-9 พ.ค.2563 พบว่า...
หลังมีการผ่อนปรนภาพรวมมีการกระทำความผิดสูงขึ้นจาก 4,407 คดี เพิ่มเป็น 5,363 คดี แยกเป็นคดีฝ่าฝืนเวลาเคอร์ฟิวจาก 3,743 คดี เป็น 4,570 คดี จากการออกมาทำธุระไม่มีเหตุอันสมควร การเดินทางกลับที่พักเกินเวลา การออกมาขับขี่รถเล่น และอื่นๆ
สำหรับความผิดของ “การรวมกลุ่มมั่วสุม” ในลักษณะเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อไวรัสโควิด-19 มีจำนวนเพิ่มขึ้นจาก 664 คดี เป็น 704 คดี เพิ่มขึ้น 40 คดี คิดเป็นร้อยละ 6.02 ลักษณะการกระทำความผิดเพิ่มขึ้น ตั้งแต่การตั้งวงสุรา เสพยาเสพติด สวนทางกับลักลอบเล่นการพนันมีจำนวนรายคดีลดลง แต่มีการรวมกลุ่มกันของผู้เล่นมากขึ้น
แม้ว่า...“เครื่องดื่มแอลกอฮอล์” ไม่ได้เป็นเรื่องผิดกฎหมาย สามารถซื้อขายได้ แต่เป็นเครื่องดื่มสุ่มเสี่ยงอันตรายของการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ในช่วงวิกฤตินี้ที่เกิดจากปัญหาพฤติกรรมของคนนิยมดื่มแอลกอฮอล์ นพ.นิพนธ์ ชินานนท์เวช ผอ.สนง.คณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค บอกว่า...
ในปี 2560 สนง.สถิติแห่งชาติสำรวจพฤติกรรมการสูบบุหรี่และการดื่มสุราของประชากร ปรากฏว่า คนไทยดื่มแอลกอฮอล์ 20% ของประชากร หรือราวเกือบ 20 ล้านคน ในจำนวนนี้อายุ 15 ปีขึ้นไป เป็นผู้ที่ดื่มสุราแอลกอฮอล์ 15.9 ล้านคน หรือร้อยละ 28.4
และแยกเป็นผู้ดื่มสม่ำเสมอ 6.98 ล้านคน และดื่มนานๆครั้ง 8.91 ล้านคน นอกจากนี้ ในกลุ่มอายุ 25-44 ปี ยังมีอัตราดื่มสุราสูงสุดร้อยละ 36.0 อายุ 45-49 ปี ร้อยละ 31.1 และสูงวัยอายุ 60 ปีขึ้นไป ร้อยละ 15.2 อัตราการดื่มของผู้ชายร้อยละ 56.6 มากกว่าผู้หญิงร้อยละ 13.0
สำหรับปีหลังๆ จากนั้นมา...เริ่มมีนักดื่มหน้าใหม่แนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะ “กลุ่มผู้หญิง และเด็กอายุ 12 ปี” ก็มีการดื่มสุรากันแล้ว ทั้งที่มีกฎหมายเด็กต่ำกว่าอายุ 18 ปี ห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 ภายใต้กฎกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)
แต่ด้วยเกิดพฤติกรรม “อยากลอง...อยากรู้” จากเพื่อนชักชวน หรือคนในครอบครัวมักดื่มสุราภายในบ้าน กลายเป็น “ตัวอย่าง” ทำให้เด็กเกิดการเลียนแบบขึ้น แม้ว่ามีกฎหมายคุ้มครองบังคับ “ห้ามเด็กต่ำกว่าอายุ 18 ปี ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์” หากมีการกระทำความผิด “ผู้ปกครอง” ต้องร่วมรับโทษด้วย
เรื่องนี้ไม่เคยนำ “ผู้ปกครองของเด็กดื่มของมึนเมา” มาลงโทษตามกฎหมาย สำหรับ พ.ร.บ.เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ห้ามจำหน่ายให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี ร้านสะดวกซื้อ ซุปเปอร์มาร์เกต ต่างปฏิบัติอย่างเข้มงวดดี
หนำซ้ำ...ยังมี “คนติดสุรา” ลักษณะขาดการดื่มไม่ได้ เสมือนเสพสารเสพติด คาดว่าคนไทยป่วยเป็นโรคพิษสุราเรื้อรังไม่ต่ำกว่า 1 แสนคน บางส่วนเข้าสู่ระบบการรักษาในโรงพยาบาลต่างๆ และอีกบางส่วนไม่ยอมรักษาตัว หรือตรวจร่างกาย เพราะคิดว่า...“ไม่ติดสุรา หรือเป็นโรค” ทำให้มีผลระยะยาวของโรคเรื้อรังตามมา เช่น
โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง โรคตับ มะเร็ง วัณโรคปอด ปอดบวม และโรคข้างเคียงอื่นๆ
การดื่มสุรานอกจากส่งผลต่อสุขภาพ ยังมีผลข้างเคียงต่อสังคม เช่น การทะเลาะวิวาท ทำร้ายตนเอง ซึ่งข้อมูลนี้ไม่มีการนำออกมาเปิดเผยกันนัก มักพูดเรื่อง “เมาแล้วขับ” ตามรายงาน “กรมควบคุมประพฤติ”...
แต่ละปี “มีผู้เมาแล้วขับ” ถูกส่งดำเนินคดี 5-6 หมื่นราย มีอุบัติเหตุบนท้องถนนเสียชีวิต บาดเจ็บมากมาย เพราะคนไทย “มักดื่มสุรา ยาเมา เอามันสนุกสนาน” ไม่มีความรับผิดชอบ ส่วนหนึ่งมาจากโฆษณาโปรโมชันเครื่องดื่มแต่ละยี่ห้อ ทำให้ “ยั่วยุ” กลุ่มเป้าหมายหลักของโฆษณา กลายเป็นปัญหาตามมา
โดยเฉพาะในสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 มีการเชิญชวนซื้อขายผลิตภัณฑ์ผ่านออนไลน์ให้ผู้บริโภคโดยตรง ซึ่งเป็นกลไกผิดกฎหมาย ม.32 พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ห้ามให้โฆษณา แสดงชื่อ หรือเครื่องหมายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อวดอ้างสรรพคุณ ชักจูงใจให้ผู้อื่นดื่มโดยตรง หรือโดยอ้อม...
สิ่งสำคัญ...ช่วงประกาศตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ห้ามจำหน่วยเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในความจริงกลับปรากฏว่า “มีการแอบลักลอบขายกันเกลื่อนทั่วเมือง” เพราะประเทศไทยออกใบอนุญาตจำหน่วยเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 5-6 แสนใบ ซึ่งห้ามขายได้เพียงบางส่วน และบางส่วนก็มีของกักตุ่นค้างสต๊อก ถูกนำออกมาขายกัน
เพราะการลักลอบจำหน่ายสุรา เป็นการฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน...“คดีอาญาของความผิดเหตุซึ่งหน้า” ที่เป็นช่องโหว่ของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติที่มีหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย หากไม่เผชิญเหตุโดยตรง ก็ไม่สามารถดำเนินการจับกุมได้ ทำให้การห้ามขายเป็นเพียงลดการเข้าถึงของผู้บริโภคเท่านั้น
ประเด็นดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงโรคโควิด-19 ระบาดนี้... เป็นสาเหตุหนึ่งการแพร่เชื้อโรค เพราะพฤติกรรมการดื่มสุราของคนไทย มักออกไปพบปะกลุ่มเพื่อนสังสรรค์กันตามสถานที่ “อโคจร” หรือสถานบันเทิงต่างๆ มีลักษณะสภาพสถานที่แออัด ในจำนวนนักเที่ยวก็อาจมีผู้ติดเชื้อรวมอยู่ก็ได้ ทำให้เสี่ยงติดเชื้อโควิด-19...
หากมีผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในกลุ่มแค่หายใจ หยิบจับภาชนะร่วมกันก็ติดเชื้อได้แล้ว เพราะนั่งในระยะใกล้ จึงมีโอกาสรับเชื้อมากขึ้น เชื้อไวรัสถูกส่งผ่านแก้วที่ใช้ร่วมกัน เข้าสู่ทางเดินหายใจทางจมูกและปาก
เพียงหายใจใกล้กัน หรือนั่งใกล้กันก็ติดเชื้อได้แล้ว
ต้องยอมรับว่า...“คนเมาสุรา” มักไม่ค่อยสนใจในเรื่องการป้องกันตัว หากผู้ร่วมนั่งดื่มติดเชื้อ มีอาการไอ ละอองน้ำลายจะฟุ้งกระจายไปสู่ภาชนะของผู้อื่น ส่งผลให้โต๊ะเดียวกันติดเชื้อ และการดื่มเข้าสู่ร่างกายยังเข้าไปทำลายระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้เม็ดเลือดขาวทำงานฆ่าเชื้อโรคในร่างกายได้ไม่เต็มที่ ส่งผลให้ติดเชื้อต่างๆได้ด้วย
ทำให้มีมาตรการ “ปิดสถานบริการ” ตามคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัด และ “รัฐบาล” ก็ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินควบคู่กัน ในการป้องกัน “คนเคลื่อนย้ายไปที่อื่น” ลักษณะเคลื่อนย้ายโรคโควิด-19 ไปด้วย เมื่อไม่มีการเดินทาง และไม่มีการดื่มแอลกอฮอล์ ส่งผลให้ลดอุบัติเหตุเหลือ 1 ใน 3 ของการเกิดอุบัติเหตุปกติ
ทว่า...จำนวน 1 ใน 3 ของอุบัติเหตุปกตินี้ก็ยังมี “อุบัติเหตุเมาแล้วขับ” แสดงว่า มีการฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ลักลอบขายสุราในตลาดล่าง และลักลอบดื่มสุรากันอยู่ตามปกติเช่นเดิม
เมื่อมี “การผ่อนปรน” ก็เริ่มมี “การรวบแก๊ง...จับกลุ่มดื่มสุรากัน” แบบไม่สนใจมาตรการป้องกันโควิด-19 ในบางร้านอาหาร เปิดให้มีการนั่งดื่มในร้านด้วยซ้ำ ทำให้มีรายงานการเกิดอุบัติเหตุเพิ่มมากขึ้นตามมา สาเหตุเพราะกฎหมายมีสำหรับ “การควบคุม” ที่ไม่ได้ “ห้ามขาย” หรือ “ห้ามดื่ม” แต่ขอเพียงให้ทำตามกฎหมายก็พอ...
แม้ว่าการระบาดโควิด-19 มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลง แต่ก็ “อย่าประมาท” เพราะการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์คือ สาเหตุให้ลดภูมิต้านทานของร่างกาย มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 ง่ายกว่าคนไม่ดื่ม อีกทั้งยังรวมถึงโรคติดเชื้ออื่นด้วย ซ้ำร้าย...ยังง่ายต่อการแพร่กระจายเชื้อไปยังคนอื่น หรือนำเชื้อสู่ครอบครัวได้อีกด้วย
ในการเชิญชวน “ดื่มที่บ้าน” อาจส่งเสริมให้รวมกลุ่มดื่มกัน เพราะพฤติกรรมของคนไทย ไม่นิยมดื่มคนเดียว กลับชอบสังสรรค์กันเป็นหมู่ หากเมาแล้วก็ไม่อยู่นิ่ง ต้องออกไปสังสรรค์ต่อที่อื่นเสมอ...
เรื่องดื่มแอลกอฮอล์ของคนไทย...“ยิ่งห้าม...ยิ่งยั่วยุ” แต่ต้องทำความเข้าใจให้รู้เท่าทัน และตัดสินใจ...เพราะติดเชื้อมาอาจสร้างปัญหาให้ “คนใกล้ชิด ครอบครัว” จะมาสำนึกผิดภายหลังก็สายไปแล้ว...
June 25, 2020 at 05:01AM
https://ift.tt/31fCmXK
คอทองแดงเย้ยโควิด ยิ่งห้ามยิ่งยั่วยุก๊วนเหล้า - ไทยรัฐ
https://ift.tt/3cAAHOs
Bagikan Berita Ini